ศูนย์วิจัยความคิดสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยเยล (Yale Center for Dyslexia & Creativity) ได้ศึกษาและสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่มีปัญหาอ่าน(ดิสเล็กเซีย) นับตั้งแต่ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด สตีเวน สปีลเบิร์ก, Jack Horner นักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist)ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์, นักดาราศาสตร์, ศัลยแพทย์ด้านออโธปิดิกส์, กุมารแพทย์, นักกฎหมาย,และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก
บุคคลที่ประสบความสำเร็จสูงแต่มีปัญหาอ่านเขียน พบว่ามีความคิดนอกกรอบ อ่านหนังสือได้ช้า แต่มีระดับสติปัญญา การใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์สูง บุคคลกลุ่มนี้ได้ออกมาเล่าถึงปัญหาการอ่านเขียนไม่ได้หรือไม่คล่องตั้งแต่วัยเด็ก
วัยเรียนของบุคคลเหล่านี้ ประสบชะตากรรม สอบไม่ผ่านหลายครั้ง หลายคนตกซ้ำชั้น เป็นเวลาหลายปี แต่พวกเขาก็ผ่านพ้นอุปสรรคความยากลำบาก ความกดดันในการเรียน ที่ถูกเพื่อนล้อ ครูไม่เข้าใจ คิดว่า เด็กที่อ่านเขียนไม่ได้ เป็นเด็กโง่ ทึ่ม ปัญญาอ่อน พวกเขานึกภาพไม่ออกว่าจะเรียนเอาตัวรอด และประสบความสำเร็จได้อย่างไร
สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานระดับรางวัลออสการ์ของฮอลลีวู้ด พูดถึงตัวเองว่า เขาต้องเรียนซ่อมเสริมในชั้นการเรียนพิเศษตั้งแต่วัยเด็ก ปัจจุบันเขายังคงอ่านหนังสือได้ช้า โดยใช้เวลาในการอ่านบทความมากกว่าคนทั่วไป แต่ข้อดีของการอ่านได้ช้าก็คือ เขาสามารถทำความ เข้าใจกับบทความที่อ่านได้อย่างละเอียดถ่องแท้
สปีลเบิร์ก ยังกล่าวว่า เขาไม่ทราบถึงปัญหาอุปสรรคการเรียนรู้บกพร่องของเขา ว่าเกิดจากอะไร แต่เมื่อมีการค้นพบว่าปัญหาอ่านเขียนหรือที่เรียกว่า ”ดิสเล็กเซีย”(แอลดี)พบในบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายวงการ ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง รวมถึงได้ฟังบุคคลต่างๆ ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองที่คล้ายกัน ทำให้เขาคิดว่า เขาน่าจะได้รับการช่วยเหลือปัญหาการเรียนตั้งแต่เล็ก น่าจะมีคนเข้าใจเรื่อง ดิสเล็กเซีย(อ่าน เขียนบกพร่อง)เพื่อช่วยให้เขาปรับตัวได้ดีในตอนนั้นคนจำนวนมากยังคงคิดว่า เด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ตั้งแต่ประถม เป็นกลุ่มที่มีปัญหาพัฒนาการสมองช้า ผิดปกติ หรือปัญญาอ่อน ไม่เข้าใจว่าเด็กแบบนี้ ฉลาดได้อย่างไร
ข้อมูลทางสถิติในความเป็นจริงชี้ให้เห็นว่าเด็กที่มีปัญหาอ่าน เขียน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม แอลดี มีค่าคะแนนไอคิวที่กระจายตัว พบได้ 3 กลุ่ม กลุ่มที่1 ระดับไอคิวปกติ (90-109) กลุ่มที่ 2 ระดับไอคิวสูงกว่าเกณฑ์(ตั้งแต่ 110ขึ้นไป) และ กลุ่มที่ 3 ระดับไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย(80-89) หรือ ก้ำกึ่งแต่ไม่ถึงระดับปัญญาอ่อน(70-79)
ในกรณีของการวัดค่าไอคิวได้ต่ำกว่า 70 อยู่ในช่วง 60-69 จะจัดอยู่ในกลุ่ม ปัญญาอ่อนระดับน้อย ซึ่งก็ยังเรียนได้ในระดับ ปวช.(ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) การกระจายค่าของระดับไอคิว ในเด็กกลุ่มที่มีปัญหาอ่านเขียน ก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มเด็กที่อ่าน เขียนได้ปกติ
กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้เตรียมหลักสูตรที่ยืดหยุ่น เหมาะสม รวมถึงไม่ได้พัฒนาสื่อการสอนอุปกรณ์การเรียนที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆของพหุปัญญาที่ไม่อาศัยการอ่านเขียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีช่วยเหลือเพื่อพัฒนา เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เรียนรู้ได้ตามความถนัด มีตัวชี้วัดความสำเร็จของเขาในแต่ละปีที่ไม่ผูกกับการอ่าน เขียน และคำนวณ
ค่าคะแนนการอ่าน เขียน และคำนวณ เป็นเกณฑ์มาตรฐาน ที่นโยบายจากส่วนกลางกำหนดว่า จะให้เด็กผ่านชั้นเรียนได้หรือไม่ และยังผูกโยงกับผลการสอบระดับชาติ คือ O-Net, A-Netที่ให้น้ำหนักค่าคะแนนในกลุ่มสาระหลักที่สอบโดยใช้ความสามารถในการอ่าน เขียนและคำนวณเป็นตัวตั้ง แต่หลักสูตรการศึกษามองข้ามความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านอื่น ก็ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่หรือตระหนักว่ามีโอกาสพบร่วมกัน หรือเป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาอ่านเขียน
นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้เด็กไทยปลอดภาวการณ์อ่านเขียน ในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระบวนการพาเด็กเข้าหาบริการทางการแพทย์ คือพบนักจิตวิทยา เพื่อวัดไอคิว เข้าพบแพทย์สาขาที่ขาดแคลน(จิตแพทย์เด็ก) เพื่อการวินิจฉัยให้ได้ใบรับรองแพทย์ มาจัดแบ่งประเภทของเด็ก แต่คุณครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษา ก็ยังไม่มีแนว ทางพัฒนาเด็กในกลุ่มนี้ที่ดูปกติ ให้เรียนอยู่ในหลักสูตรของการเรียนร่วมได้ไม่ถูกคัดออกหรือ ตกซ้ำชั้นอยู่ 2-3 ปี ซึ่งไม่น่าส่งผลดีต่อความภาคภูมิใจในความเก่งที่เขามี
ขอเพียงคุณครูได้มีโอกาสใช้ศักยภาพ วิจารณญาณตามวิชาชีพ คลุกคลี ใส่ใจ แบ่งเวลาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และพหุปัญญา รวมถึงออกแบบการสอนที่ยืดหยุ่น ค้นหาเทคนิคการสอน วิธีการเรียนรู้ของนักเรียน ปรับการสอบวัดผลให้เหมาะกับธรรมชาติของเด็กพิเศษทุกประเภท
ด้านการสนับสนุนสื่อและการสอนที่จำเป็นด้านไอที ก็สามารถจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาแผนการสอนรายบุคคล ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาการอ่านเขียนและเด็กพิเศษทุกประเภท ให้คุณครูทุกคนเข้าใจและมีวิธีการช่วยเหลือนักเรียนได้ทันที
การแบ่งกลุ่มแยกประเภทให้เป็นเด็กพิเศษ บกพร่องการเรียนรู้ หรือแอลดี และต้องพาเด็กทุกคนในกลุ่มนี้ที่ดูฉลาดปกติ แต่อ่านเขียนไม่ได้ ไปวัดระดับไอคิวพึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หากจำเป็นจริงก็ควรเป็นไปเพื่อการวินิจฉัยในบางราย หรือเพือการวิจัยในภาพรวม เพื่อก่อให้เกิดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ที่รัฐพึงจัดสรรให้ทั่วถึง ไม่ใช่เพื่อคัดกรองและแบ่งกลุ่มให้อยู่ในหมวดความพิการโดยไม่จำเป็น ทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นเด็กกลุ่มที่ไม่อาจพัฒนาศักยภาพได้
สุดท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนขอยกข้อความบางส่วน จากข้อที่ 2 ในประกาศของราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ที่ 4/2557 "โรคทางจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีลักษณะเป็นพลวัตร กล่าวคืออาการของโรคมีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตขณะแพทย์ตรวจประเมิน ในเวลาต่อไปอาจกลับเป็นปกติได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่แพทย์ลงความเห็นขณะตรวจประเมินว่าปกติ อาจมีความผิดปกติทางจิตในเวลาต่อไปได้เช่นกัน การคัดกรองนักเรียนโดยการประเมินระยะสั้นเพียงครั้งเดียว จึงอาจบอกอะไรได้ไม่มากนัก การประเมินความสามารถในการศึกษาจากศักยภาพและสมรรถนะของนักเรียนในแต่ละห้วงเวลาว่าเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดหรือไม่ จะมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่นักเรียนมากกว่าการอนุมานจากความเจ็บป่วยขณะคัดเลือกเพื่อรับเข้าศึกษา หากจะมีการตรวจประเมินควรเป็นไปเพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนรายที่ เห็นว่ามีความเสี่ยง มากกว่าเพื่อคัดกรอง"
นายแพทย์สมชาติ สุทธิกาญจน์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.ราชบุรี/รพ.นภาลัย สมุทรสงคราม
Comments powered by CComment