Nicholas Negroponte
" Being Dyslexic, I don't like to read books "
“ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือจากภาวะดิสเล็กเซีย ”
ข้อความข้างต้นปรากฏในบทนำของหนังสือชื่อ Being Digital ที่นิโคลัส เนโกรปอนติ เป็นผู้ประพันธ์ พิมพ์แพร่หลายแปลออกจำหน่ายมากกว่า 40 ภาษา เนโกรปอนติ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในโลกไอที ในฐานะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ผู้บุกเบิกสาขาการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Media Lab ของสถาบันเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) และยังเป็นเจ้าของโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คหนึ่งเครื่องต่อเด็กหนึ่งคน (One Laptop per Child) โดยไม่หวังผลกำไร เนโกรปอนติให้ความเห็นในรายการวิทยุว่า ดิสเล็กเซียหรือปัญหาอ่านเขียนเกี่ยวข้องกับพรสวรรค์ที่พบบ่อยในสถาบันเอ็มไอที จนอาจกล่าวได้ว่า “ดิสเล็กเซีย” เป็นโรคประจำถิ่นของสถาบัน หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคเอ็มไอที” (Thomas G West ,1999)
ในโลกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ใช้เทคนิคที่ก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ สร้างฉากและภาพเคลื่อนไหวสมจริง ล้วนอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินแห่งโลกดิจิตอล (Digital artist) ที่เริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนการ์ตูน นักออกแบบ จินตนาการวาดภาพ แต่ง แต้ม หรือปั้นประดิษฐ์ ด้วยวัสดุต่างๆเป็นรูปสัตว์ที่น่ารัก ตัวประหลาด กองทัพหุ่นยนต์ ซุปเปอร์ฮีโร่ หลากหลายสายพันธุ์
ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรก ก็เป็นตัวอย่างจากผลงานของนักวาดการ์ตูน สองพี่น้องตระกูลดิสนีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทวอล์ท ดิสนีย์ ผลิตภาพยนตร์การ์ตูนที่บันทึกเสียงพูดเรื่องแรกของโลกคือ มิคกี้ เมาส์ ตอน Steamboat Willie นับเป็นก้าวแรกในโลกภาพยนตร์การ์ตูน ในเวลาต่อมา สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกทั้งภาพสีและเสียงเรื่องแรกของโลกเช่นกัน วอล์ท ดิสนีย์ในวัยเรียน ตื่นตั้งแต่ตีสามช่วยพ่อส่งหนังสือพิมพ์ ชอบวาดรูปในชั่วโมงเรียน ช่วงที่เรียนอยู่มักหลับในห้องเรียนบ้าง วอล์ทเป็นผู้วาดการ์ตูนในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน
“ ผมไม่ค่อยฝันมากนักตอนกลางคืน เพราะผมฝันตลอดทั้งวัน ”
“ ความฝันคืออาชีพของผม ”
สตีเว่น สปีลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ค่าย DreamWorks SKG ที่มีชื่อเสียงของฮอลลีวู้ดกับความรู้สึกแบบเด็กๆ และความฝันของคนธรรมดาสามัญ
ในวัยเด็กของสปีลเบิร์ก เขาชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมากกว่าวรรณคดี อายุ 10 ปี ถูกพักการเรียนและส่งเข้าเรียนในชั้นเรียนพิเศษ เพราะเรียนรู้ช้า ผลการเรียนได้เกรดค่อนข้างแย่ เพราะความสามารถด้านการอ่านไม่ดี แม้จะมีความใฝ่ฝันเรียนต่อมหาวิทยาลัย สาขาการสร้างภาพยนตร์ แต่มหาวิทยาลัยชื่อดังที่มีโปรแกรมการสอนผลิตภาพยนตร์ไม่รับเข้าเรียน เพราะคะแนนการเรียนในระดับมัธยมของเขาต่ำเกินไป
สปีลเบอร์กตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตการทำงานในกองถ่าย เมื่อได้รับโอกาสโดยยังไม่จบมหาวิทยาลัย แต่ประสบความสำเร็จในวัย 28 ปี มีชื่อเสียงจากผลงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Jaws มีรายได้ 470 ล้านดอลล่าร์ ผลงานต่อมาคือเรื่อง อีที (ET) สร้างจินตนาการมนุษย์ต่างดาวที่น่ารัก ครองใจเด็กทั่วโลก และผลงานที่ยิ่งใหญ่ปลุกยุคสมัยดึกดำบรรพ์ของโลกล้านปี จูราสสิก ปาร์ค มี Jack Horner เป็นที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องไดโนเสาร์ Jack สนใจขุดซากไดโนเสาร์เป็นนักขุดตั้งแต่อายุ 8 ปี เข้าเรียนวิทยาลัยในสาขาที่ชอบด้านธรณีวิทยายุคโบราณ(paleontology) นาน 7 ปี แต่สอบไม่ผ่าน ไม่ได้ใบปริญญาบัตรเพราะปัญหาการอ่านเขียน
สปีลเบิร์กร่วมกับนักธุรกิจ ก่อตั้งค่ายหนังยักษ์ของฮอลลีวู้ด ชื่อ ดรีมเวิร์กส์ เอส เค จี(DreamWorks SKG) ผลิตภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ การ์ตูน เพลง และซอฟแวร์มัลติมีเดีย ร่วมธุรกิจกับไมโครซอฟต์ และร่วมงานกับจอร์จ ลูคัส สร้างสรรค์ศิลปะและเทคนิคพิเศษชั้นเยี่ยมด้วยการตัดต่อระบบดิจิตอล ผลงานที่ได้รับรางวัลออสการ์ 5 รางวัล ในปี ค.ศ.1999 จากภาพยนตร์เรื่อง American Beauty และรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ Saving Private Ryan สปีลเบิร์ก ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่สามารถเข้าถึงจิตใจผู้ชม สื่อให้เห็นคุณค่าของความหวังและความสำคัญของครอบครัว
(เนื้อหาบางส่วนจาก Reader's Digest , Jan2006 และสตีเว่น สปีลเบิร์ก พ่อมดฮอลลีวู้ดทอม พาวเวอร์เขียน,นัยนา รัตนวรรณแปล)
เอริน บร็อคโควิช (Erin Brockovich) ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของแม่หม้ายลูกสาม ในปี ค.ศ. 2000 แสดงนำโดย จูเลีย โรเบิร์ตส์ กำกับโดย สตีเว่น ซอเดอร์เบิร์ก(Steven Soderbergh) เอริน บร็อคโควิช ชีวิตจริงเป็นบุคคลที่มีปัญหาอ่านเขียน ทำงานตำแหน่งเสมียนจัดเก็บเอกสารของสำนักงานทนายความ พบข้อมูลจากแฟ้มอสังหาริมทรัพย์ และรายงานทางการแพทย์ ที่ระบุถึงความเจ็บป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุของชาวบ้านในเขต Hinkley
เอรินเริ่มสืบหาข้อมูลด้วยการพบปะพูดคุยกับผู้ที่พักอาศัยใกล้เคียงกับสถานีของบริษัท Pacific Gas and Electric จนพบสาเหตุคือ สารพิษโครเมี่ยม 6 ที่รั่วออกมาจากแหล่งน้ำใต้ดินของบริษัทแก๊สแห่งนั้น และดำเนินการฟ้องร้องจนเรียกค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านที่พักอาศัยในละแวกนั้น 600กว่าคน เป็นจำนวนเงิน 333 ล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันเอรินตั้งบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
ภาพยนตร์เรื่อง Erin Brockovich ได้รับรางวัลมากมาย เช่นเดียวกับที่ผู้รับบทนำเรื่องนี้ คือ จูเลีย โรเบิร์ตส์ ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม รางวัลลูกโลกทองคำและ BAFTA Award จูเลีย โรเบิร์ตส์ และเอริน บร็อคโควิช ทั้งคู่เป็นคนถนัดซ้าย (ลักษณะที่พบบ่อยในบุคคลที่มีปัญหาอ่านเขียน คือ ความถนัดใช้มือซ้ายหรือคล่องทั้งสองมือมากกว่าในกลุ่มประชากรทั่วไป)
วาเลอรี่ เดลาเฮย์ (Valerie Delahaye) เป็นอีกตัวอย่างของคนเก่งด้านการออกแบบเทคนิคภาพในภาพยนตร์ เธอเป็นคนที่อยู่นอกสายตาของระบบการศึกษาด้วยปัญหาการอ่านเขียนที่ทำไม่ได้ดี คะแนนสอบจึงไม่ผ่านที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะของประเทศบ้านเกิด (ฝรั่งเศส) ซ้ำยังหางานทำไม่ได้ในประเทศของตัวเอง แต่เธอได้โอกาสเริ่มชีวิตการทำงานด้านการออกแบบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นได้ร่วมงานกับบริษัทคอมพิวเตอร์กราฟิก มีผลงานเป็นที่ยอมรับในความสามารถที่มาจากประสบการณ์พื้นฐานด้านการออกแบบ และทักษะทางคอมพิวเตอร์ที่มาเรียนรู้เพิ่มเติมภายหลัง ต่อมาได้รับผิดชอบโครงการด้านเทคนิคภาพ(Visual effect)ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ด ทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภาพยนตร์ต่างๆที่มีชื่อเสียง เช่น Finding Never land, Titanic ,The Matrix เธอไม่รู้สึกแปลกใจที่พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในทีมงานออกแบบกราฟิกคอมพิวเตอร์ก็มีปัญหาอ่านเขียน
(อ้างอิงจาก The Abilities of Those with Reading Disabilities:Focusing on the Talents of People with Dyslexia, Thomas G West ,1999)
เคยมีการประมาณตัวเลขว่า ครึ่งหนึ่งของศิลปินด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นบุคคลที่มีปัญหาการอ่านเขียน รวมถึงการศึกษากลุ่มนักเรียนศิลปะปีที่ 1 ของ โรงเรียนศิลปะลอนดอน พบดิสเล็กเซียสูงถึง 75 % (Delahaye, West 1998)
ในวงการบันเทิง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในโลกเซลลูลอยด์ จึงพบคนเก่งจำนวนมากที่มีปัญหาการเรียนรู้ตามระบบการศึกษาในวัยเด็ก ตั้งแต่ผู้กำกับภาพยนตร์ นักออกแบบสร้างฉาก นักปั้นหุ่น สัตว์ประหลาด ฝ่ายเทคนิคตัดต่อภาพ คนทำแอนิเมชั่นภาพเคลื่อนไหวด้วยกราฟิกคอมพิวเตอร์ รวมถึงพิธีกร นักร้อง นักแสดง ที่มีชื่อเสียง เช่น ทอม ครูย์ซ , คีนู รีฟส์ และดาราภาพยนตร์อีกหลายคนที่ถนัดซ้าย นักร้องเพลงลูกทุ่งระดับคุณภาพที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็มีประวัติปัญหาอ่านเขียน
นิยามของ “ดิสเล็กเซีย”(DYSLEXIA) คือ ปัญหาการอ่าน สะกดคำติดขัด อ่านไม่คล่อง หรืออ่านไม่ได้เลย รายงานไว้ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ ตั้งแต่ 112 ปีก่อน โดย ดร. พริงเกิล มอร์แกน (พฤศจิกายน ค.ศ.1896) คือ Word Blindness หรือภาวะบอดทางตัวหนังสือ โดยที่สติปัญญา สายตา สมองดี และภาษาพูดปกติ แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงภาพของคำหรือตัวอักษรที่มองเห็น ให้แปลความหมายเป็นเสียงอ่าน ทำไม่ได้หรือติดขัด ไม่คล่อง ทางการแพทย์ยังไม่มีคำอธิบายถึงสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจมีการเชื่อมโยงของระบบประสาทภายในสมองที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ผิดปกติมาตั้งแต่เกิด
บทสรุปและข้อคิดเห็นสำหรับคุณครู ผู้ปกครองและนักการศึกษา
ในแวดวงการศึกษา "ดิสเล็กเซีย" คือ แอลดี (Learning Disability) ด้านภาษา หรือความบกพร่องด้านการอ่านเขียน ทางการแพทย์จัดเป็นความผิดปกติเฉพาะด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) ในทักษะการอ่านหรือเขียน แต่ไม่มีปัญหาทักษะด้านอื่น เช่น การใช้ภาษาพูดปกติ เล่าเรื่องเก่ง ไหวพริบโต้ตอบดี คารมคมคาย และพบเด็กแอลดี 20-30 % มีภาวะสมาธิสั้นร่วมด้วย มีประวัติพูดช้า ถนัดซ้ายและสับสนทิศทางซ้ายขวาในวัยเด็กเล็ก
คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า เด็กแอลดีเป็นเด็กโง่ สอนไม่จำ ดื้อหรือขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะมีความบกพร่องการเรียนรู้ (ด้านภาษา อ่านเขียน คำนวณ) ก็ล้วนฉายแววฉลาด เป็นแฟนพันธุ์แท้ที่เก่งเฉพาะด้านที่ตนสนใจตั้งแต่เล็ก เช่น อาจชอบวาดรูปอย่างเดียว เก่งด้านนาฏศิลป์ ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ แต่การอ่านเขียนและวิชาอื่นทำไม่ได้เลย การเรียนรู้เกิดจากการสังเกต ทดลองปฏิบัติ จึงเรียนรู้จากประสบการณ์มากกว่าการจำตัวอักษร คำศัพท์ ทฤษฎีมากมาย และด้วยการฟังเรื่องเล่าแบบ Story Telling เหตุการณ์ต่างๆที่เชื่อมโยงให้เห็นจินตนาการเป็นภาพในใจ รวมถึงการเรียนรู้จากสื่อการสอนแบบมัลติมีเดียและรู้จักใช้เทคโนโลยีของไอทีได้ดี
ปัจจุบันยังพบเด็กถูกลงโทษ ดุตี เคี่ยวเข็ญเรื่องจดงานไม่ทัน ลายมือแย่ ไม่ตั้งใจเรียนซุกการบ้าน คอยลอกงานเพื่อน ไม่สามารถปรับตัวได้จากภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้ คุณครู ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องในระบบการศึกษา ควรร่วมกันค้นหาศักยภาพในเด็กที่มีปัญหาอ่านเขียน เพื่อวางแผนเป็นทิศทางหลักของการจัดแผนการเรียนการสอน(IEP) ให้สอดคล้องกับความถนัด ก็จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้ในระบบโดยไม่เสียความภูมิใจ สอบตกซ้ำ เครียดเรื้อรัง ซึมเศร้า หรือเบื่อเรียนตั้งแต่ประถมปลาย และมองตนเองอยู่ในกลุ่มเด็กไม่ดี นำไปสู่พฤติกรรมหนีเรียน เป็นเด็กติดเกมส์ ติดเพื่อน เกเร ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่มัธยมต้น
ตัวอย่างลายมือของเด็กที่มีความบกพร่องด้านอ่านเขียนในระดับไม่รุนแรง
นายแพทย์สมชาติ สุทธิกาญจน์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่่น รพ.นภาลัย อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
Comments powered by CComment