หนึ่งในสี่ของเด็กสมาธิสั้นพบว่ามีปัญหาการเรียน จากภาวะบกพร่องด้านการอ่านเขียน  วงการศึกษาเรียกว่าเป็นเด็กแอลดี (LD-Learning Disability) หากรุนแรงอ่านเขียน สะกดคำไม่ได้เรียกว่า “ดิสเล็กเซีย”(Dyslexia) คุณครูจะพบว่าความสามารถด้านการอ่านจะต่ำกว่าชั้นเรียนที่เรียนอยู่ 2 ชั้นปี เช่น นักเรียนเรียนอยู่ในระดับประถมปีที่ 3 อ่านเขียนได้เท่าระดับประถมปีที่ 1 จัดอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนรู้ช้าแต่มีสติปัญญาดี ไหวพริบโต้ตอบเก่งความคิดสร้างสรรค์สูง เก่งศิลปะ ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์

อ่านได้จากบริบท แต่เขียนสะกดคำลำบาก ลายมือแย่

เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาการอ่าน และโดยทั่วไปเขียนได้ถูกต้อง แต่ยังพบปัญหาการเขียนช้าและลายมือแย่ได้ราวร้อยละ 60 พฤติกรรมการเขียนที่พบเป็นปัญหา เช่น เขียนข้ามตกหล่น สะกดคำไม่ได้ สับสนหัวตัวอักษรภาษาไทยทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวอักษรที่คล้ายกันจำไม่ได้ หรือเขียนลายมือเป็นตัวหวัด ไม่เป็นระเบียบ โย้หน้าโย้หลัง ลักษณะคล้ายควบคุมกล้ามเนื้อมือได้ไม่ดี มักบ่นว่าเหนื่อย เมื่อยมือมากแม้เขียนได้ไม่กี่ประโยค ทำให้จดงานไม่ทันในชั้นเรียน เบื่อการเขียนและซุกการบ้าน

ปัญหาการเขียนอาจอธิบายได้ด้วยการทำงานของสมอง ที่พบจากงานวิจัยทางการแพทย์ในเด็กสมาธิสั้น ว่ามีความบกพร่องของการทำงานในสมองซีกซ้ายส่วนหน้าบางส่วน และโดยปกติสมองซีกซ้ายเป็นศูนย์กลางการรับรู้ด้านภาษา อ่าน เขียน คำนวณ วิเคราะห์รายละเอียด การใช้เหตุผล รวมถึงการยับยั้งควบคุมอารมณ์ และการกำกับสั่งงานกล้ามเนื้อในส่วนของร่างกายซีกตรงข้าม คือ มือขวาที่คนส่วนใหญ่ถนัดใช้ในการเขียน

การอ่านของเด็กสมาธิสั้นจะรวดเร็วมากกว่าการเขียน เพราะอาศัยการทำงานของสมองซีกขวาแปลผลรู้ความหมายคำศัพท์ต่างๆได้จากบริบท(Context) ของคำในประโยค คือ การเดาคำศัพท์ แต่เข้าใจเนื้อหาด้วยการอ่านรวดเร็วแบบกวาดสายตา (Skim) เก็บใจความสำคัญของข้อความเป็นภาพรวมของประโยค ไม่ต้องสะกดทุกคำ การอ่านจึงไม่เป็นปัญหามากนักและยังอ่านได้รวดเร็วกว่าการเขียนที่ต้องประมวลผลจากสมองซีกซ้ายก่อน

สมองซีกขวากับปัญญาสร้างสรรค์

การเรียนรู้ของสมองซีกขวาแปลผลเป็นภาพรวม (Holistic) คือ มองเห็นในภาพใหญ่จึงเรียนรู้จากความเข้าใจในบริบทของเรื่องราวต่างๆที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน การท่องจำคำศัพท์มากๆทุกวันโดยที่ไม่เคยเห็นคำเหล่านั้นในประโยคต่างๆ หรือไม่ได้นำไปใช้พูด สนทนา จัดได้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบสมองซีกซ้าย แยกแยะและไม่เชื่อมโยงกับเรื่องใด

ความคิดสร้างสรรค์อาจกล่าวได้ว่ามีพัฒนาการจากการทำงานของสมองซีกขวามองเห็นความน่าจะเป็นหรือความเป็นไปได้ (Probability) ของสิ่งต่างๆจากภาพหรือเหตุการณ์หนึ่งๆว่าอาจเป็นได้หลายรูปแบบ จินตนาการเห็นเป็นภาพ มีสีสัน เคลื่อนไหวหรือเสียงที่แปลกใหม่ได้หลายมิติ หดเล็ก ขยายใหญ่ หมุน360 องศา สลับกลับซ้ายขวา หน้าหลังเหมือนมองจากกระจกเงา หรือเห็นเป็นภาพอื่นที่ซ้อนทับกันจากที่มองเห็นภาพเดียว

จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ค่อยๆจางหายไปตามวัย เมื่อเด็กเรียนรู้เติบโตในระบบการศึกษาที่กระตุ้นสมองซีกซ้ายมากกว่า ทั้งในการอ่าน เขียน คำนวณ วิเคราะห์ประมวลผลเป็นแบบแผนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ภาพวาดหมวกที่มองจากด้านข้าง ผู้ใหญ่มองเห็นเป็นเพียงหมวกใบหนึ่ง แต่เด็กเล็กมีจินตนาการมาก(จากพัฒนาการของสมองซีกขวามากกว่าซีกซ้ายในช่วงต้นของการเจริญเติบโต)มองเห็นเป็นงูหลามที่กลืนช้างทั้งตัวเข้าไปในท้อง(ตัวอย่างจากหนังสือ “เจ้าชายน้อย”ประพันธ์โดย อังตวน แซงแตก ซูเปรี) สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาจึงมีความหมายจากมุมมองของสมองซีกขวา เป็นนัยของการรับรู้เรื่องราวต่างๆมากกว่าที่เห็น เป็นโลกแห่งความสุขของวัยเด็กที่ฝันกลางวัน บรรเจิดด้วยจินตนาการ ความอยากรู้ เกิดคำถามข้อสงสัยมากมายในใจ ไม่หยุดนิ่งคิดหาคำตอบใหม่ๆนอกกรอบ

ความสับสนหัวและลักษณะขบวนคลื่นของตัวอักษร

ตัวอักษรทั้งในภาษาไทยและอังกฤษของเด็กสมาธิสั้น อาจบ่งบอกถึงการกระตุ้นสมองซีกขวาที่เด่นกว่า มองเห็นเป็นภาพสามมิติที่หมุน เปลี่ยนทิศทางได้ในใจ(Mental Rotation) คือ การมองเห็นความเป็นไปได้ของรูปแบบการเขียนที่หลากหลาย เช่น เห็น ว เขียนเป็น อ, ด เป็น ค, น เป็น ม, ล เขียนคล้าย จ, b เขียนเป็น d, p เป็น q การเขียนหัวตัวอักษรไทย จึงเขียนวนอยู่หลายรอบ หรือใช้วิธีระบายหัวตัวอักษรให้เป็นจุดดำ  ก่อนตัดสินใจเลือกข้าง ลากเส้นต่อลงมาในทิศทางซ้ายหรือขวา ที่คิดว่าน่าจะถูกต้องในการเขียนตัวอักษรนั้น ว่าเป็นตัวไหนระหว่าง น หรือ ม , พ หรือ ผ  พฤติกรรมการเขียนยังอาจพบลายมือแบบเด็กเล็กเขียน กลายพันธุ์เป็นตัวอักษรไทยที่ไม่มีหัว หัวกุดไปบ้าง หรือเหลือแต่หน่อตอเล็กๆ หรือเขียนเป็นตัวอ้วนๆ หัวตัวอักษรกลมๆใหญ่แล้วลากเส้นไว้ตรงกลาง ให้คนอ่านเดาตัวพยัญชนะ สระ หรือวรรณยุกต์จากบริบทของคำในประโยค

ความสับสนหัวตัวอักษรว่าขมวดเข้าหรือออกและวิธีเขียนที่เปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆดังกล่าว จึงอาจอธิบายได้ว่า คือพัฒนาการปรับตัวของลายมือของเด็กสมาธิสั้น เพื่อชะลอการส่งผ่านข้อมูลจากการทำงานที่เร็วกว่าของสมองซีกขวาให้ช้าลง ส่งภาพตัวอักษรที่เห็นไปยังสมองซีกซ้ายแยกแยะสะกดได้ว่าเป็นอักษรตัวไหนในคำนั้น หรือเป็นคำใดในประโยค เช่นเดียวกับความสับสนในเรื่องของทิศทางเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวันของเด็กสมาธิสั้นและแอลดี มักงงกับทิศทางซ้ายขวา และยังเป็นต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่ เช่น บอกให้ไปทางขวาแต่กลับชี้ไปทางซ้าย หรือออกจากลิฟต์แล้วจำไม่ได้ว่าต้องเดินไปทางไหน

ลายมือของเด็กสมาธิสั้นยังพบลักษณะเฉพาะ เช่น การเขียนเป็นขบวนของตัวอักษรที่มีรูปแบบการเคลื่อนตัวไปของตัวหนังสือเหมือนคลื่น มียอดคลื่นในแต่ละวลีและประโยคสลับต่อเนื่องกัน เมื่อมองดูจากทั้งบรรทัด ขนาดของตัวอักษรจะเริ่มจากขนาดเล็กและค่อยขยายใหญ่ อ้วนขึ้น สูงขึ้นแล้วลดขนาดเล็กลงเป็นช่วงๆของแต่ละคลื่น (ลักษณะเดียวกับฟอนต์ตัวอักษรที่ปรากฏในย่อหน้านี้และในชื่อเรื่องของบทความ)

สมองซีกซ้ายที่ช้ากว่า ไม่สอดคล้องกับซีกขวา

บ่อยครั้งมือขวาเขียนตัวอักษรที่ล้ำหน้าไปก่อนหนึ่งตัวจากภาพคำที่เห็นโดยสมองซีกขวา(ตามปกติสมองซีกซ้ายควบคุมการเขียนของมือขวา) เช่น คำว่า ฉัน จะเขียนตัว น ไปก่อน แล้วเขียนทับด้วย ฉ ตามด้วย น สะกด ปรากฏการณ์การเขียนทับซ้ำดังกล่าวพบได้บ่อย อธิบายได้ว่าการทำงานของสมองซีกขวาในเด็กสมาธิสั้น ส่งข้อมูลภาพแบบกวาดทั้งคำ แต่จำตัวอักษรลำดับท้ายนำไปเขียน ในเวลาเดียวกันสมองซีกขวาที่เร็วกว่าและถนัดกว่าอาจมีผลยับยั้งการทำงานของสมองซีกซ้ายให้ช้าลงจนถึงติดขัด มีผลให้สะกดคำไม่คล่อง ไม่ถนัด พบตัวอักษรตกหล่น เขียนข้ามคำ เดาตัวสะกด เขียนตัวใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไม่เป็นระเบียบแล้วแต่อารมณ์ เมื่อสมองซีกซ้ายตรวจทานแยกแยะคำ พบว่าเขียนสะกดผิด ก็เขียนแก้ในจังหวะเวลาต่อมาทันที จึงเห็นเป็นตัวอักษรที่เขียนทับซ้ำลงไปในตัวเดิม

สมองซีกซ้ายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากกว่าในการจดจำตัวอักษรแบบปกติ (Formal Type) สมองซีกขวาตอบสนองมากกว่าต่อการกระตุ้น ด้วยภาพของตัวอักษรแบบแฟนซี (Fancy Type) ในเด็กสมาธิสั้นสมองซีกซ้ายช้าในการประมวลผลการอ่านเขียน อาจไม่เป็นปัญหาถ้าสมองซีกขวาที่ทำงานดีกว่า สามารถเรียนรู้ จดจำและจัดการตัวอักษรได้ด้วยการเขียนออกแบบ วาดลงในกระดาษ หรือสร้างสรรค์ด้วยคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์โปรแกรมสร้างตัวอักษรประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆ ให้ดูแปลกใหม่ไม่น่าเบื่อ กลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งในการออกแบบลายเส้นและรูปร่างตัวอักษรที่เรียกว่า แอมบิแกรม(Ambigram)  ทำให้สามารถอ่านคำกลับหัว หรือกลับข้างแบบมองผ่านกระจกเงา

ระบบการศึกษาเห็นคุณค่า ประเมินและพัฒนาเด็กสมองซีกขวา
 
เด็กที่มีแววฉลาดแต่ไม่ถนัดด้านอ่านเขียน ลายมือแย่และเขียนช้าด้านหนึ่งจึงเป็นภาวะบกพร่อง หากพิจารณาจากการเรียนการสอนในระบบการศึกษาปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจอยู่ในกลุ่มเด็กเก่งในทักษะของสมองซีกขวา มีความคิดนอกกรอบเชิงสร้างสรรค์ ที่แตกต่างจากเด็กที่เก่งอ่านเขียน(สมองซีกซ้าย) ตัวอย่างที่พบ เช่น นักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงของโลก ทอม้ส เอดิสัน ซนจนป่วนในวัยเด็ก แต่ชอบคิดค้นทดลองตลอดชีวิต มีหลักฐานจากจดหมายที่เขียนถึงแม่ในช่วงวัยทำงาน เขียนสะกดคำและไวยากรณ์ไม่ถูก
 
การประเมินเด็กที่มีปัญหาอ่านเขียนเป็นรายบุคคล จึงมีความสำคัญเพื่อให้ความช่วยเหลือ รวมถึงการปรับหลักสูตรการสอน วัดผลการเรียนด้วยผลงานที่ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ เข้าใจการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง มากกว่าการท่องจำหรือให้การบ้านอ่านเขียนมากๆ การสอนด้านทฤษฎีในเด็กกลุ่มนี้ ควรปรับให้มีเนื้อหา การเรียนคำศัพท์ต่างๆให้มีทักษะในระดับที่พอเพียงและจำเป็นต่อการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติ พร้อมกับการสอนเสริมให้ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาการอ่านหรือเขียน

ระบบการศึกษามองเห็นคุณค่าของผู้เรียนที่มีแววถนัดแตกต่างกัน พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม สร้างสื่อและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆร่วมกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้รู้ รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน ให้เห็นว่าทุกสาขาอาชีพมีความสำคัญ ต้องอาศัยพื้นฐานการปฏิบัติให้ได้รับประสบการณ์ที่มากพอต่อการเรียนรู้อย่างเข้าใจตามศักยภาพของผู้เรียน มีผลงานที่สร้างคุณค่าความภูมิใจได้ตั้งแต่ประถมปลาย เตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานให้กับเด็กกลุ่มสมองซีกขวา(Right Brain) หรือสายพันธุ์อาร์ที่มีปัญหาการอ่านเขียน ให้เป็นเด็กเตรียมอาชีวะในสาขาต่างๆ เช่น ศิลปะ การออกแบบ ดนตรี อัญมณี กีฬา ภาพยนตร์ บันเทิง การแสดง การถ่ายภาพ การทำอาหาร การประดิษฐ์หุ่นยนต์ แอนิเมชั่นในกราฟิกคอมพิวเตอร์ มีสถาบันการสอนที่มีมาตรฐานทั้งภาครัฐและเอกชนรองรับเข้าศึกษาต่อ ตั้งแต่ระดับมัธยมต้น มองเห็นโอกาสและแสงสว่างแห่งความสำเร็จที่ปลายทางบนถนนหลายสาย ต่างสาขาวิชาชีพที่ล้วนสร้างคุณค่าต่อสังคม

ภาพประกอบ: โนบิตะ เด็กที่ทำการบ้านไม่ได้ ในการ์ตูนชุดโดราเอมอน ผู้เขียนจินตนาการให้มีแมวหุ่นยนต์จากอนาคตมาเป็นตัวช่วย ผู้เขียน คุณฟูจิโมโต ฮิโรชิ วาดรูปเก่งตั้งแต่เล็ก แต่ต้องแอบวาดการ์ตูนไม่ให้พ่อรู้ เพราะกลัวพ่อดุ

* ข้อเขียนในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล อ้างอิงจากประสบการณ์และการศึกษาแนวคิดการทำงานของสมองจากหนังสือ “The Right Mind”ประพันธ์โดยโรเบิร์ต ออร์นสไตน์ (ค.ศ.1997)

Comments powered by CComment