ผลงานต่อเลโก้โดยน้องไฮเปอร์ (ADHD) อายุ 5 ขวบ ที่ รพ.หัวหิน ดูเรียบง่าย แต่สมบูรณ์แบบในตัวเอง เหลือชิ้นส่วนเล็กชิ้นเดียวที่ไม่เข้าชุด เจ้าหนูก็แยกออกมา ไม่เอาไปใส่รวมด้วย ใช้เวลาประกอบไม่ถึง 5 นาที แล้วหนูน้อยก็เอามาส่องให้ดู บอกว่า ทำเป็นแว่นตา............เลยลองเอากลับมา จัดเรียงให้เข้ากับชุดปั้นดินน้ำมัน angry bird เป็นผลงานของเด็กแอลดี(LD) น้องคนนี้ เรียนอยู่ป. 4 อ่านเขียนไม่ได้ อยู่ที่ราชบุรี เจ้าหนูแอลดีทำใส่กล่องพลาสติกมาให้หลายเดือนก่อน หน้าตาเยินไปบ้างจากการหยิบจับ แต่ยังดูมีชีวิตชีวา น่าประทับใจ

 

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า กระทรวงศึกษาฯ ออกนโยบาย ให้เด็กไทยปลอดการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพื่ออะไร..........ทุกวันนี้คุณครูส่วนใหญ่ ยังมองไม่เห็นศักยภาพและแนวทางพัฒนาเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ บกพร่องอ่าน เขียน แต่ดูฉลาดปกติดีในหลายๆเรื่อง

เมื่อส่วนกลางมีนโยบายแบบนี้ ครูระดับอนุบาล2-3 เริ่มมาเข้มงวดการสอนให้เด็กเขียนอ่านมากขึ้น รวมถึงขอให้พ่อแม่ช่วยดูแลให้ลูกหัดเขียนให้ได้ ตั้งแต่ยังอยู่อนุบาล สร้างความเครียดให้กับผู้ปกครอง นักเรียนและตัวครูเอง

สพฐ.ควรยอมรับปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในระดับประถมไปก่อน
และช่วยให้คุณครูมีแนวทางช่วยเหลือเด็กด้วยความเข้าใจ คือ เน้นพัฒนาการเรียนรู้ด้านอื่น ที่ไม่ต้องอาศัยการอ่านเขียนเป็นหลัก มากกว่าสร้างความกดดันครู และผู้ปกครอง เข้มงวดกวดขันให้นักเรียนระดับประถมต้น อ่านออกเขียนได้ทุกคน

เด็กแอลดี หากได้รับการช่วยเหลือที่ถูกทาง ก็ฝึกให้อ่าน เขียนได้ตอน ป. 5 , ป. 6 หริอ ม.1 ,ม.2 ก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเขา ในการเรียนรู้ด้วยสื่อต่างๆ ด้านมัลติมีเดีย การใช้ไอทีหรือการเรียนรู้จากกิจกรรมที่เป็นภาคปฏิบัติเริ่มได้ตั้งแต่เล็ก เด็กที่บกพร่องการเรียนรู้ ไม่หูหนวก ตาบอด ไม่มีภาวะปัญญาอ่อน ก็สามารถฟังครูสอน ดูสารคดี และออกมาเล่าเรื่อง นำเสนอจากความเข้าใจได้ดี ไม่ใช้การอ่าน เขียนมาสอบวัดผล แต่วัดผลที่ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะที่พัฒนามากขึ้นในการสังเกต ทดลองปฏิบัติ

นโยบายการศึกษาจึงควรเปิดกว้าง ไม่ตีกรอบแบบผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา ควรเปิดโอกาสให้ครูได้ยืดหยุ่น ปรับวิธีการสอน และการวัดผลได้ด้วยตัวครูเอง โดยไม่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มากเกินไป การผลักภาระให้ครู ผู้ปกครองพากันไปวัดไอคิว ได้ผลเป็นตัวเลขระดับไอคิว แล้วจึงมาจัดการเรียนการสอน ให้ได้ผลตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของการปลอดการอ่านเขียนไม่ได้ จะมีความแตกต่างกันในวิธีการช่วยเหลือกลุ่มเด็กแอลดี ที่ไม่ใช่กลุ่มปัญญาอ่อน และส่วนใหญ่ ระดับไอคิวปกติ ต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย และสูงกว่าปกติ (ตามคำนิยามดั้งเดิม ระดับสติปัญญาฉลาดปกติ) การจัดกิจกรรมการสอนจะแตกต่างกันตามระดับไอคิวหรือ

ลำพังแค่กระบวนการพาเด็กเข้าหาบริการทางการแพทย์ในลักษณะนี้ คือ พบนักจิตวิทยา พบแพทย์สาขาขาดแคลน(จิตแพทย์เด็ก) เพื่อให้ได้ใบรับรองแพทย์มาแบ่งประเภทของเด็ก แล้วจึงค่อยมาจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้อย่างนั้น จะไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรืออย่างไร อีกทั้งผู้ปกครองต้องผละงาน หยุดงานมาขอใบส่งตัวจากรพ.ที่ใช้สิทธิ์ 30บาท ส่งต่อข้ามจังหวัด มาขอรับนัด เพื่อรอคิวรับบริการตรวจทั้งจากนักจิตวิทยาและจิตแพทย์เด็ก สองคิวนัด ถ้านักจิตวิทยา จิตแพทย์อยู่คนละจังหวัด ก็คงรอไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นโรงเรียนคุณภาพที่ทำตามนโยบายพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนของการศึกษาทั้งระบบ ช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาอ่าน เขียนได้จริงหรือ

คุณภาพการศึกษา ที่ต้องพากันไปตรวจวัดไอคิวก่อน จึงจะช่วยเหลือ วางแผนจัดการเรียนการสอนได้ ควรเป็นมาตรฐาน ตัวชี้วัด และวิธีปฏิบัติตามแนวทางในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย หรือศูนย์วิจัยการศึกษาพิเศษ ที่ทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาเด็กที่มีปัญหาการเรียน แล้วหาแนวปฏิบัติที่จะพัฒนาครูในโรงเรียนทุกระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัดให้เข้าใจการประเมินและช่วยเหลือเด็กทุกกลุ่มที่เรียนร่วมอยู่ก่อนแล้วได้ด้วยตนเอง โดยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อนนัก ใช้เอกสาร แบบประเมินเท่าที่จำเป็น

คุณครูมึโอกาสได้ใช้ศักยภาพ วิจารณญานตามวิชาชีพ คลุกคลี ใส่ใจ แบ่งเวลาให้กับเด็กกลุ่มที่มีปัญหาอ่านเขียนมากขึ้น เพื่อค้นหาเทคนิกการสอน หรือ ปรับวิธีสอน รวมถึงออกแบบการสอนให้ใช้ได้กับนักเรียนทุกรูปแบบ ด้วยการสนับสนุนสื่อ อุปกรณ์ช่วยสอนที่จำเป็นเพิ่มเติมจากส่วนกลาง หรืออาจคิดค้น หามาเองในท้องถิ่น เริ่มต้นให้ความช่วยเหลือตามแผนการสอนรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มได้ทันที โดยไม่ต้องรู้ไอคิวของเด็กเลย ก็น่าจะทำได้ไม่ใช่หรือ

ด้วยความเข้าใจพื้นฐานว่าเด็กทุกคนแตกต่างกัน ในศักยภาพการเรียนรู้ตามความถนัดของสมอง ซีกซ้ายหรือขวา เก่งตัวหนังสือ หรือเก่งตัวเลข เก่งจินตนาการ หรือเก่งปฏิบัติ มีภาวะบกพร่องของการเรียนรู้แต่ละด้านที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

หากไม่เอาหลักสูตรกลางที่ผูกโยงการวัดผล วัดคุณภาพ ตามสาระวิชาการอ่าน เขียน คำนวณเป็นตัวตั้งเท่านั้น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็จะมีความหลากหลายในมาตรฐานและตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นได้ในเด็กแต่ละกลุ่ม และเห็นผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆของพหุปัญญาได้มากกว่าตัวชี้วัดแบบเดิม

ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนบกพร่องอ่านเขียน คุณครูก็สามารถเรียนรู้ เข้าใจได้ด้วยศักยภาพ จิตวิญญาณของความเป็นครูเอง ที่มีเวลาอยู่กับลูกศิษย์ ใส่ใจ สังเกตได้มากกว่าหมอ หรือนักจิตวิทยา ขอเพียงยอมรับในระดับนโยบาย ระดับผู้บริหารของสถานศึกษา และในใจของคุณครูทุกคนให้ได้ว่า นักเรียนไม่จำเป็นต้องอ่าน เขียน คิดเลขเก่งเหมือนกัน เด็กบางคนอ่านไม่ได้ หรืออ่านช้า แต่เก่งศิลปะ เก่งดนตรี เก่งคอมพิวเตอร์ เก่งกีฬา เก่งประดิษฐ์ เป็นเรื่องปกติเหมือนผู้ใหญ่ ในชีวิตจริงคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้และ ไม่จำเป็นต้องรู้ จดจำอะไรได้มาก หรือไม่อาจเก่งในทุกเรื่องที่เขาไม่ได้ถนัด หรือไม่มีประสบการณ์มากพอเช่นกัน

Comments powered by CComment