การเรียนรู้จากการฟัง (Listening) เรื่องที่คุณครูสอน อธิบาย การพูดตามความเข้าใจในเรื่องราวที่ได้ฟัง (Story telling) และการได้เห็นตัวอย่าง คือ การสังเกต (Observation)จากที่คุณครูสอนโดยการสาธิตแสดง (Demonstration) ถือเป็นการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ คือเรียนจากความเข้าใจในประสบการณ์จริง ที่คุณครูถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ ช่วยให้นักเรียนที่มีปัญหาการอ่าน เขียน บกพร่องการเรียนรู้ หรือที่เรียก แอลดี-LD (ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มระดับสติปัญญาปกติ, สูงกว่าเกณฑ์ หรือต่ำกว่าปกติเล็กน้อย) สามารถเรียนรู้ได้ เข้าใจ คิดวิเคราะห์ต่อยอด ตั้งคำถาม อภิปรายนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประสบการณ์ของตนเอง ที่แตกต่างจากครูผู้สอนได้

การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้ภาคปฏิบัตินำวิชาการ เป็นการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสาระ เนื้อหาที่ต้องการให้นักเรียนได้รู้ โดยไม่จำเป็นต้องให้เด็กอ่านหนังสือบนกระดานดำ หรือเขียนจดตามลงในสมุดมากๆ เพราะนักเรียนกลุ่มแอลดีมีความยากลำบาก ในการอ่านข้อความยาวๆ บนกระดาน หรืออ่านในหนังสือตำรา อีกทั้งเด็กที่มีปัญหาอ่าน เขียน ก็จะเขียนสะกดคำไม่ถูก ทำให้ติดขัดเป็นอุปสรรคอย่างมากในห้องเรียน

การอ่านและเขียนในเด็กแอลดี ควรทำเท่าที่จำเป็นในขณะที่เรียนภาคปฎิบัติ เพียงเพื่อจดบันทึกคำสำคัญ (Key words) หรือคำเทคนิคต่างๆ(Technical terms) เพื่อให้นักเรียนกลับไปค้นคว้าเพิ่มเติม หรือทบทวนในหัวข้อสำคัญที่คุณครูมอบหมายให้ ในแต่ละวิชา

ทักษะการเรียนของเด็กแอลดี อาศัยการสืบค้นจากคำสำคัญ ก็สามารถหาความรู้บนโลกออนไลน์หรือ ไซเบอร์ ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน ที่ทุกคนสามารถแสวงหาความรู้จากสื่อมัลติมีเดีย ที่สืบค้นได้จากอุปกรณ์แทบเลต คอมพิวเตอร์ ได้คำตอบที่มีเนื้อหา เป็นบทความพร้อมภาพประกอบตัวอย่างให้เห็นจริง ภาพอินโฟกราฟิกที่ช่วยให้เข้าใจง่าย มากมายจากหลายแหล่ง(Multi sources)ให้ศึกษาเปรียบเทียบ อีกทั้งสารคดีใน YouTube เป็นภาพเคลื่อนไหว ที่ผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ มีการสาธิต ประกอบ

ตัวอย่างการสอนวิธีใช้อุปกรณ์ไอที เช่น การใช้กล้องถ่ายภาพที่มีเทคโนโลยีใหม่ กูรู ผู้เชี่ยวชาญพูดไป ชี้ไป ให้เห็น เข้าใจส่วนประกอบต่างๆที่สำคัญ, วิธีการปลูกต้นไม้ เพาะพืชพันธุ์เกษตรอินทรีย์, การวาดรูปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ,การทำอาหาร, การฝึกพูดภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นการเรียนรู้โดยผ่านการฟัง (Audio) การมองเห็น (Visual) ภาพการสาธิต แสดงวิธีปฏิบัติให้เข้าใจ และทำตามได้เลย ไม่ใช่การสอนด้วยทฤษฎี เช่น สอนวิธีปรุงอาหารโดยมีหัวข้อต่างๆ ให้จดตามตำราเรียน แล้วไปท่องจำมาสอบ

เด็กที่มีปัญหาการอ่าน เขียน ทุกกลุ่ม (โดยเฉพาะเด็กแอลดี ที่เป็นเด็กส่วนใหญ่ของกลุ่มอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้) สามารถเรียนรู้ เข้าใจเนื้อหาวิชาที่เรียนได้ทุกสาขา ทัดเทียมกับเด็กที่อ่านเขียนเก่ง อาศัยการเรียนรู้จากกิจกรรมภาคปฏิบัติต่างๆ เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์ วิชาการเกษตร ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำอาหาร การถ่ายภาพ คุณครูผู้สอนสามารถเตรียมอุปกรณ์มาสาธิต ให้เด็กได้ทดลองทำ เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองฝึกปฏิบัติ ได้ผลงานออกมาเป็นที่น่าชื่นชมและภูมิใจ ว่าเขาเรียนรู้ได้ อธิบายขั้นตอนและทำให้ดูได้ โดยการฝึกฝนและชี้แนะจากคุณครูและเพื่อนในกลุ่มย่อย

การบรรยายหรือเลคเชอร์ในชั่วโมงเรียน ให้นักเรียนก้มหน้าก้มตา จดบันทึกในสมุด หรือการทำรายงานส่งครูด้วยแผ่นกระดาษ ก็กลายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อย ถกอภิปราย วิเคราะห์จากปัญหาที่ผู้สอนนำเสนอเป็นกรณีศึกษา

คุณครูวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน จากพัฒนาการของทักษะการสังเกต การใช้อุปกรณ์ต่างๆ การลงมือแก้ปัญหาของนักเรียน ว่ามีวิธีคิด วิเคราะห์ต่างกันอย่างไร และจัดการสอบ โดยคุณครูตั้งคำถาม ไม่ต้องให้นักเรียนอ่านข้อสอบ และให้ตอบปากเปล่าได้ วัดที่ความเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ไม่ต้องให้เขียนตอบในกระดาษสอบ

ผลผลิตของการเรียนการสอนในลักษณะนี้ ก็จะได้นักเรียนที่กล้าแสดงออก รู้วิธีแก้ปัญหา มีทักษะในกิจกรรมต่างๆตั้งแต่พื้นฐานจากง่ายไปยาก ในเนื้อหาสาระที่ได้ออกแบบการสอนมาเป็นภาคปฏิบัติ โดยได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนและครู ผู้เรียนมีทักษะในการนำเสนอด้วยการเขียนแผนภาพ หรือทำสไลด์ที่มีภาพประกอบ ตัวหนังสือน้อยๆ นักเรียนต้องอาศัยทักษะการพูด เล่าเรื่อง อธิบายให้เพื่อนฟัง อย่างกระชับ มีลำดับเนื้อหาที่สำคัญ ตรงประเด็น และให้ทันกำหนดเวลา

นักเรียนได้ช่วยเหลือกันในการเรียน ก็จะไม่เห็นภาพของเด็กคนไหน ที่แยกตัวซุ่มอ่านตำราคนเดียว โดยไม่ต้องแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ หรือไม่ต้องช่วยงานเพื่อนในกลุ่ม ที่มักพบเห็นการเรียนแบบต่างคนต่างเรียน ในระบบการศึกษาแบบเรียนทฤษฎี ให้จด เขียน อ่านมากๆ

คุณลักษณะใหม่ของนักเรียนในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ คือ ความฝักใฝ่ อยากเรียน อยากรู้ ไม่กลัวที่จะถามครู ชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายกับเพื่อนๆ กล้าแสดงออก กล้าทดลอง คิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาองค์ความรู้ใหม่จากประสบการณ์ที่ไม่มีในตำรา คือคุณลักษณะของนักเรียนยุคใหม่ที่เรียนรู้จากประสบการณ์มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีช่วยหาข้อมูลใหม่ๆเพิ่มเติมและทันสมัย

สถาบันการศึกษาต่างๆที่จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี โท เอก หรือคอร์สการฝึกอบรมเพิ่มเติมในปัจจุบัน ก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่เรียก Work shop ดังที่เราพบเห็นในโฆษณาว่า นักศึกษาจะได้เรียนรู้ โดยผ่านการฝึกปฏิบัติงานจริง ไม่ได้เน้นทฤษฎีและการเขียนรายงาน

ในยุคดิจิตอลไอทีที่ขับเคลื่อนสังคมโลกด้วยนวัตกรรมการศึกษา ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวหน้า เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ค้นหาความรู้ที่เป็นสื่อผสม เป็นภาพเคลื่อนไหว ผ่านอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ทั้งแทบเลต คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือพกพา แบ่งปันความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ได้ใช้ทักษะอ่านเขียนมากนัก แต่เป็นทักษะการพิมพ์สัมผัสบนคีย์บอร์ดแทนมีKey word ให้เลือกคำที่ถูกต้อง ซึ่งเด็กแอลดีที่พออ่านแบบเดาคำได้ก็สามารถเลือกคำศัพท์ที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องสะกดถูกด้วยตัวเอง

นายแพทย์สมชาติ สุทธิกาญจน์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.นภาลัย สมุทรสงคราม/รพ.ราชบุรี/รพ.สมุทรสาคร/รพ.ตุลาการเฉลิมพระเกียรติ นครปฐม

Comments powered by CComment