ลักษณะสมาธิสั้นพันธุ์แท้

เด็กสมาธิสั้น คือ กลุ่มเด็กเก่ง ส่วนใหญ่ไหวพริบและไอคิวดีม​าก แต่คำว่า สมาธิสั้น คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเป็นแง่ลบว่า ปัญญาอ่อน ไม่สามารถจะเรียนอะไรได้เลย แต่กลับตรงข้ามเป็นเด็กที่มีสมาธิมากเหมือนอยู่ในภวังค์ในเรื่องที่ชอบ สนใจ แต่ไม่อาจมีสมาธิได้เลยในเรื่องที่ไม่สนใจ

หน้าที่ 1-ลักษณะสมาธิสั้นพันธุ์แท้

สมาธิสั้นพันธุ์แท้ หรือ เรียก "ไฮเปอร์" มีประวัติในวัยเด็กเรื่อง ซนไม่อยู่นิ่ง ชอบปีนป่าย ทำกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะการวิ่งเล่นซน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยทั้งวัน ยกเว้น การทำอะไรที่ไม่สนใจ จะทำได้ไม่นาน หยุกหยิก เหม่อเหมือนไม่ฟังเวลาพูดคุยด้วย แต่กลับรู้เรื่องหมด เพราะสมองไวเหมือนเรดาร์ แบ่งภาคการรับรู้ได้มาก จึงเลือก ตรวจจับ รับข้อมูลหรือคำสั่งเฉพาะเรื่องที่สนใจ และสำคัญ เช่นเสียงเรียกของแม่ที่เริ่มอารมณ์เสีย หงุดหงิดที่เรียกหลายครั้งแล้วยังไม่ฟังเพราะกำลังมีสมาธิมากกับการเล่น

ในเด็กผู้ชายมักเป็นสมาธิสั้นแบบซน เคลื่อนไหวเร็ว เหมือนรถที่มีเครื่องยนต์แรง แต่เบรคไม่ค่อยดี พูดมาก เล่นสนุกส่งเสียงดัง ไม่ค่อยระวัง ทำอะไรรีบเร็ว ไม่เรียบร้อย ซุ่มซ่าม ของตกหล่น แตกบ่อย โดยไม่ตั้งใจ มีความว่องไวแบบนักวิ่งลมกรด หรือนักรักบี้ตัวน้อย ที่พละกำลังมาก วิ่งชนคู่ต่อสู้ หรือหลบ ดิ้นหลุดจากการถูกกอดรัด จับตัวไว้ได้ ในเด็กผู้หญิงมักพบสมาธิสั้นแบบเหม่อมากกว่า ความซนจะน้อยกว่าเด็กผู้ชาย และทำอะไร เรื่อยๆ อืดอาด ช้า ไม่ทันกำหนดเวลา ต้องคอยบอก กำกับ เหมือนไม่รู้เวลา เหม่อและหลงลืมบ่อย

ผู้ใหญ่ที่ใจร้อน ก็คือ เด็กไฮเปอร์มาก่อน เป็นคนที่คิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว แสดงออกท่าทางมากเวลาพูด เปลี่ยนใจในเรื่องต่างๆง่าย เพราะพลังความคิดมีมาก มองเห็นความเป็นไปได้หลายมิติของสถานการณ์ จึงปรับตัวรับมือต่อความเปลี่ยนแปลง ที่พลิกผันได้ดี ชอบลักษณะงานที่ไม่อยู่กับที่ รักอิสระ ไม่ชอบถูกตีกรอบความคิด เป็นคนที่คิดนอกกรอบ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จนถึงขั้นดื้อรั้นไม่ฟังใคร ความคิดและจินตนาการ ที่แปลกใหม่ พรั่งพรูในสมอง ทำโครงการ หรือกิจกรรมหลายอย่าง เบื่องานซ้ำๆ งานที่เข้าทำตามเวลา หรือถูกเร่งรัดด้วยเวลา

เด็กสมาธิสั้น มีสมาธิมาก แบบจดจ่อ อยู่ในภวังค์ ในเรื่องที่ชอบและสนใจ ไม่ใช่แต่เฉพาะการ์ตูน (ที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่เป็นสาระ) แต่ยังสนใจภาพยนตร์สารคดี เรื่องราวของธรรมชาติ และสัตว์โลก ที่มีสีสันเป็นภาพเคลื่อนไหว และเนื้อหาแปลกใหม่ เป็นเด็กช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็นมาก มีข้อสงสัย คำถามในใจมากมาย มาซักถามจนผู้ใหญ่เหนื่อยที่จะตอบ

รวมถึง ชอบเล่นแกะรื้อ ต่อประกอบ อุปกรณ์ ของเล่นส่วนใหญ่ มักกระจุย กระจาย แยกเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย เพราะความอยากรู้ อยากเห็น ผู้ใหญ่เข้าใจว่า ซนไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อโตขึ้นก็รู้จักต่อ ประกอบใหม่ ซ่อมเครื่องยนต์ กลไกต่างๆ โดยไม่ต้องมีใครสอน เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตนเอง จากการสังเกต ทดลองซ้ำ ฝึกปฏิบัติบ่อยๆ

พื้นฐานเดิมเป็นเด็กที่อารมณ์ดี สนุกสนาน รับรู้ อารมณ์คนรอบข้างไว จึงอ่อนไหวง่าย ขี้น้อยใจมาก จากการที่ถูกดุว่า บ่อย เรื่อง ซนและดื้อ ฉลาดโต้ตอบด้วยไหวพริบ คารมคมคาย น้ำเสียงพูดสูงๆ ต่ำๆ มีลีลาแบบจังหวะดนตรี เจ้าบทเจ้ากลอน เจ้าบทบาท เลียนแบบ แสดงสีหน้า อารมณ์เก่ง และมีความสามารถ ธรรมชาติของความเก่งด้านกีฬา

เพราะเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า เด็กสมาธิสั้นพันธุ์แท้ ล้วนแต่ ปัญญาดี ฉลาด เก่งหลายด้าน แต่หากลักษณะซน, เหม่อ ขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น มีมากจนก่อให้เกิดปัญหาการปรับตัว ทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หรือมีปัญหาการเรียนมาก ทางการแพทย์จึงจะถือว่าเป็น โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit /Hyperactivity Disorder) หรือ ADHD

เข้าใจปัญหาการเรียน

เด็กสมาธิสั้น กลุ่มที่ไม่มีปัญหาการเรียน มีมากกว่าครึ่ง มีทั้งที่เรียนเก่งมากสอบได้ในระดับที่ 1 - 10 ได้ ตั้งแต่เล็ก (แต่มีลักษณะของสมาธิสั้น) จนเข้ามหาวิทยาลัย ได้เกียรตินิยมจบ ปริญญาโท เอก จบแพทย์หลายสาขา เป็นวิศวกรนักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และอีกหลายแขนงวิชาชีพที่ชอบ กลุ่มที่ผลการเรียนปานกลาง หรือรั้งท้ายในวัยเด็ก ช่วงประถมหรือมัธยมต้น แต่กลับมาทำคะแนนได้เป็นม้าตีนปลายในโค้งสุดท้าย (ม.5-ม.6) สอบเอนทรานซ์ ได้จากความชอบ มีเป้าหมาย หรือเริ่มรู้วิธีเรียน และใส่ใจพยายามมากขึ้น กลุ่มที่มีปัญหาอ่านเขียนมาก พบได้ราว หนึ่งในสี่ของเด็กสมาธิสั้น เกิดจากการขาดสมาธิในการฟังครู และ/หรือจากความสับสนเรื่องตัวอักษร เช่น b เป็น d , p เป็น q , ค เป็น ด งง ว่าหัวตัวอักษร หมุนเข้า หรือออกเวลาเขียน หรือจากปัญหาสะกดคำไม่ถูก ตกหล่น ลายมือเขียนตามปกติจะเป็นตัวใหญ่ๆเล็ก
แต่หากเป็นการคัดลายมือ ก็สามารถตั้งใจ เขียนได้สวยงามแบบตัวอารักษ์ หากมีปัญหาสะกดคำไม่ได้ เรียกว่า ดิสเลกเซีย (Dyslexia) หรือแอลดีด้านภาษา มักพบสมาธิสั้นแบบเหม่อมากกว่าซน พร้อมกับพรสวรรค์ด้านอื่น เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา

การศึกษาที่เน้นอ่าน เขียน มากไปตั้งแต่เล็ก ทำให้เครียด ทั้งพ่อ แม่ ครู และเด็ก จนลืมนึกถึงว่า การเรียนในชั้นอนุบาล คือ การเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน ในปัจจุบัน ยังพบลูกของแพทย์ ครู นักธุรกิจ ผู้พิพากษา พยาบาล เครียดตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ขีดเขียนกดดินสอย้ำ ลบรอยเขียนผิดออกซ้ำๆ จนกระดาษขาดยุ่ย กัดเคี้ยวดินสอ

เรียนรู้แตกต่าง สร้างแรงจูงใจ ฝึกนิสัยให้ปรับตัว

การเรียนรู้ของเด็กสมาธิสั้นมาจากประสบการณ์ การสังเกต และปฏิบัติ มากกว่าฟังครูสอน หรืออ่านจากตำรา หากสิ่งที่เรียน นำไปปรับประยุกต์ใช้ แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ก็จะจำได้เองโดยง่าย ถ้าสนใจเรื่องใดแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก ก็มีสมาธิมาก อยากเรียน และเรียนรู้แบบวิเคราะห์เจาะลึก ในเรื่องนั้นได้ดี เป็นแฟนพันธุ์แท้ หรือ และมีสัญชาตญาณ เก่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตนเองสนใจตั้งแต่เล็ก เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์

การสร้างแรงจูงใจ ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับเด็กสมาธิสั้น

ให้รู้จักคิดเอง แก้ปัญหาเองเป็น ตั้งแต่ 3-4 ขวบปีแรก ฝึกให้รู้จักรอคอย ดึงพลังงานที่มี่มากในตัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ทำสิ่งต่างๆได้เอง และชื่นชมเขาบ่อย เป็นพื้นฐานแรงจูงใจที่นำไปใช้ด้านการเรียนได้
การฝึกนิสัยให้รักการอ่าน ให้ดูหนังสือที่มีภาพประกอบ มีสีสัน อ่านให้ฟัง ตั้งแต่ 2-3 ขวบปีแรก โดยเฉพาะ นิทาน การ์ตูน บทกลอน บทความ ง่ายๆ ช่วยให้เริ่มอ่านได้ ตั้งแต่อนุบาล 3 และอ่านเก่งมาก ป.2 , ป. 3 หาหนังสือประเภทต่างๆ ที่ชอบ เช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี แฮรี่ พอตเตอร์ อ่านเร็วแบบ scan กวาดสายตา เก็บใจความเนื้อหา โดยข้ามการสะกดคำที่ยาก

แต่การเขียนมากๆ ประโยคยาวๆ จะต้องใช้สมาธิ รู้สึกยาก เมื่อยมือ เบื่อสะกดตกหล่น หรือสะกดคำผิด จึงเขียนได้ช้า และเขียนตอบหรือบรรยายสั้นๆ หากเนื้อหาการเรียนมากทุกวิชา เด็กสมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่อ จดไม่ทัน และจำในรายละเอียดมากๆไม่ได้ เริ่มเรียนไม่ทัน ทำการบ้านไม่ได้ ซุกการบ้าน ผลการเรียนลดลงตั้งแต่ช่วงชั้นประถมปลาย หรือช่วงเปลี่ยนระดับชั้นเข้ามัธยมต้น การสอนในห้องเรียน ที่ต้องนั่งนิ่งๆ ฟังครูสอน ทุกชั่วโมง หรือจดตามมากๆ เด็กสมาธิสั้นปรับตัวได้ยาก การปรับการเรียนการสอน อาจเป็นการบรรยายภาคทฤษฎี สัก 20 นาที แล้วแบ่งกลุ่มจัดกิจกรรมให้ฝึกปฏิบัติ ซักถาม ถกเถียงกัน แล้วนำเสนออภิปราย ได้ขยับตัวเคลื่อนไหวให้มีชีวิตชีวา มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม

หน้าที่ 2-ต้นแบบการเรียนรู้ จินตนาการ และความมุ่งมั่นปฏิบัติ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ชื่อว่า เป็นพวกวาดวิมานในอากาศ ฝันกลางวัน(Day Dreamer) ในระยะแรกที่นำเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ ถูกวิจารณ์อย่างมาก ว่านึก วาดภาพฝันเอาเอง โดยไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”และยังให้ข้อคิดอีกว่า “เด็กมีความกระหายที่จะเรียนรู้โดยธรรมชาติ การสอนเด็กจึงง่ายมาก ถ้าเพียงแต่สอนในสิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้ ไม่ใช่สอนในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเด็กควรเรียนรู้อะไร”

ซึ่งแตกต่างจากระบบการสอนที่ยึดหลักสูตรเป็นตัวตั้ง ให้เก่งทุกวิชา ในเนื้อหาที่มากเกินความจำเป็น ไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มผู้เรียน ที่มีความถนัดเฉพาะด้านแตกต่างกัน

ส่วน ทอมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ ที่จดลิขสิทธิ์นับพัน ในวัยเด็ก ซนจนป่วน มีลักษณะของสมาธิสั้นแบบซน ครูรับมือไม่ไหว คิดว่าเป็นเด็กโง่

เอดิสันเคยกล่าวให้ข้อคิดว่า “ปากกาและดินสอแต่เพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ แต่การปฏิบัติและทดลองอยู่ตลอดเวลา ด้วยความมุ่งมั่น สม่ำเสมอเท่านั้น ที่ทำให้เกิดผลงานได้”เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษของอังกฤษในยุคสงครามโลก ชอบเล่นตุ๊กตาทหาร ในวัยเด็ก แต่มีความทุกข์จากการเรียน เขียนไว้ว่า “ไม่มีครูคนใดสามารถสอนให้ข้าพเจ้าเรียนรู้ได้ หากสิ่งที่เรียนไม่ก่อให้เกิดจินตนาการไม่ทำให้ข้าพเจ้าสนใจ”

โนบิตะคุง คือ เด็กสมาธิสั้น

จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่เยาว์วัย หากยังคงรักษาไว้ ส่งเสริม และสานไปได้ต่อเนื่องจนเติบใหญ่ ก็อาจสร้างผลงาน สร้างความสุข ความสำเร็จได้บนหนทางของวิชาชีพเช่นเดียวกับเส้นทางที่บุคคลเก่งเลือกเดิน รวมถึง โนบิตะ ตัวเอกในการ์ตูนโดราเอมอน ที่เป็นเด็กไม่เอาถ่าน ทำการบ้านไม่ได้ ผู้เขียนจินตนาการให้มีแมวหุ่นยนต์จากอนาคตใช้ของวิเศษสารพัด เป็นตัวช่วย ถ้าลองวิเคราะห์ดูจะพบว่า โนบิตะ มีลักษณะของเด็กสมาธิสั้น แบบเหม่อ มีนิสัยเอื่อยเฉื่อย ไม่สามารถทำเรื่องทั่วๆไปภายในเวลาที่เด็กคนอื่นทำได้ ปรับตัวไม่ได้ในเรื่องการเรียน ถูกไจแอนท์และซูเนโอะล้อ ว่าเป็นไอ้ทึ่ม โนบิตะเคยคิดว่า พ่อแม่ไม่อยากให้เขาเกิดมา เพราะดุว่าเขาบ่อยมาก เรื่องตั้งใจทำการบ้านไม่ได้และมีความคิดว่า เด็กคงจะมีความสุขมาก หากโลกนี้ไม่มีโรงเรียน แต่เบื้องหลังความล้มเหลว โนบิตะ ยังมีความฝัน มุ่งมั่น ด้วยจิตใจที่ดีงาม และมีน้ำใจต่อเพื่อน


ฮิโรชิ ฟูจิโมโต

โนบิตะ ก็คือ ตัวตนของผู้เขียนการ์ตูนชุดโดราเอมอน คุณฮิโรชิ ฟูจิโมโต ในวัยเด็ก มีพรสวรรค์ในเรื่องจินตนาการ วาดรูปเก่งตั้งแต่เล็ก แต่อาจไม่มีวิชาไหนที่เขาสนใจเรียน หรือทำได้ดี นอกจากการวาดภาพ ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากสมาธิสั้น และ/หรือมีปัญหาแอลดี (ด้านภาษา) ระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นเองในสมัยนั้นคงไม่รู้จัก สมาธิสั้น/แอลดีว่าเป็นอย่างไร
ผู้เขียน คือ คุณฮิโรชิ ฟูจิโมโต จึงต้องแอบวาดการ์ตูนไม่ให้พ่อรู้

ลายมือและความรู้สึกของเด็กสมาธิสั้น(1)

หน้าที่-3 เด็กเก่งของสมองซีกขวา ในระบบการศึกษาของสมองซีกซ้าย

ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการที่ไร้ขอบเขต และการมองเห็นภาพในใจ ที่เคลื่อนไหวสัมพันธ์กันในมิติต่างๆ (เก่งด้านมิติสัมพันธ์) คือ วิถีแห่งการเรียนรู้ที่แตกต่างของเด็กสมาธิสั้น อาศัยทักษะของสมองซีกขวา จึงเก่งในการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ มากกว่าเชิงวิชาการหรือทฤษฎี เช่นเดียวกับการ์ตูนชุด สนู้ปปี้, ชาร์ลี บราวน์, ผู้เขียนคือ ชาร์ล เอ็ม ชูลซ์ วาดตัวการ์ตุนเด็กเล่นปากกา เล่นดินสอ ในห้องเรียน(ลักษณะของสมาธิสั้น)สับสนเครื่องหมายถูก ผิดที่ใช้ตัวอักษร T หรือ Fแทน และอ่าน เขียนไม่ค่อยถูก (ลักษณะของแอลดี) การ์ตูนเรื่องแรกที่วาด เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กเล่นว่าว แต่ว่าวไม่ลอยติดลม คือ ตัวแทนของเด็กที่ล้มเหลวในระบบการศึกษา ตรงกับวัยเด็กของคนเขียน ที่เรียนแย่ทุกวิชา แต่ด้วยความชอบวาดรูป จบแล้วจึง เรียนต่อวิชาวาดรูปทางไปรษณีย์ ผลงานของเขาในเวลาต่อมาได้รับการพิมพ์ เผยแพร่ 22ภาษา 75 ประเทศ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ดัง พ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด สร้างชื่อเสียงจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง Jaws ในวัย 28 ปีมีรายได้ 470 ล้านดอลล่าร์ และผลงานเรื่อง อีที ที่ครองใจเด็กทั่วโลก ในวัยเด็กอายุ 10 ปีต้องพักการเรียน และถูกส่งกลับเรียนในชั้นเรียนพิเศษ เป็นเด็กที่เรียนรู้ช้า เพราะความสามารถด้านการอ่าน เขียนไม่ดีนัก

สปีลเบิร์ก / เชิด ทรงศรี

คุณเชิด ทรงศรี ผู้กำกับภาพยนตร์คนไทย มีผลงานเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จากภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” ได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างๆ ในสาขาภาพยนตร์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ทั่วโลกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิกของโลก ท่านเคยให้สัมภาษณ์ ว่า ชอบหลบไปอยู่ตามท้องทุ่ง ลำธาร มากกว่าอยู่ในห้องเรียน ทะเลาะกับย่า เรื่องโดดเรียนบ่อย ตอนประกาศผล การเรียนชั้นป.3 สอบได้ 38%ครูใหญ่เรียกให้ยืนบนโต๊ะ ให้นักเรียนทั้งชั้นดูตัว (ภาพประกอบจากนิตยสาร Kids & Family) Jack Horner ที่ปรึกษาของ สปีลเบิร์กในภาพยนตร์ จูราสสิก ปาร์ค วัยเด็กสนใจขุดซากไดโนเสาร์ตั้งแต่อายุ 8 ปี เข้าเรียนวิทยาลัยในสาขาที่ชอบนาน 7 ปี แต่สอบไม่ผ่าน ไม่ได้ใบปริญญาบัตร เพราะความบกพร่องของการอ่าน เขียน มีผลงานขุดพบซากของไดโนเสาร์ทีเร็กซ์(Tyrannosaurs Rex) มีแลบที่มีเครื่องมือทันสมัยในพิพิธภัณฑ์ที่ Montana เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ สอนนักศึกษาระดับปริญญา

พิธีกร ดารา นักร้อง นักแสดง นักดนตรี นักกีฬา จิตรกร วาทยกร ที่มีชื่อเสียง ผู้คนในวงการข่าว วงการบันเทิง การแสดง การออกแบบรวมถึงบุคคลของโลกทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ วัยเด็ก มีลักษณะไฮเปอร์ ทั้งซนและเหม่อ(ฝันกลางวัน) หรืออ่าน สะกดคำติดขัดพบเห็นกันอยู่มากมาย สร้างความสุข และความภูมิใจให้กับตนเองในวิชาชีพได้ โอกาสแห่งความสำเร็จของเด็กสมาธิสั้นบนหนทางของอัจฉริยะหรือล้มเหลวเป็นผู้แพ้ ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง ครูและระบบการศึกษาเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ที่แตกต่าง(Learning Diferrence) ไม่มองผิด คิดว่าเป็นเด็กที่แย่ มีแต่ความบกพร่อง (Learning Disability)จนไม่อาจเรียนรู้ในระบบได้ หรือเข้าใจผิดว่า เพราะความเกียจคร้าน ไม่พยายาม ไม่ใส่ใจเรียน

IEP ขยายกรอบการเรียนรู้ บูรณาการสู่พหุปัญญา

ระบบการศึกษาและสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ชื่นชมแต่นักเรียนที่เรียนรู้จากการจำ หรืออ่าน เขียนได้มาก ตอบข้อเขียนเก่งซึ่งเป็นทักษะของสมองซีกซ้าย เพื่อให้ได้คะแนนสูง สอบคัดเลือกผ่าน ได้โอกาสการศึกษาที่ดีกว่าในระดับอุดมศึกษา แต่มองข้ามความสำคัญของทักษะความเก่ง หรือพรสวรรค์ด้านพหุปัญญาของสมองซีกขวา ที่เด่นในเด็กสมาธิสั้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาบกพร่องด้านการอ่าน เขียน

การค้นหาสาเหตุของปัญหาการเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมต้น เพื่อช่วยเหลือให้คำปรึกษา แก้ไขได้ถูกทาง ส่งเสริมความสามารถในด้านต่างๆ ลดการบ้านหรืองานที่ต้องเขียนมากๆในห้องเรียน เน้นความเข้าใจที่เกิดจากการอ่าน หรือฟังแล้วจับเนื้อหาประเด็นหลักให้ได้ดีก่อน ที่จะเน้นการสะกดคำ หรือเขียนได้ดี โดยไม่ให้ผิดเลย ซึ่งทำได้ยากแม้ในช่วงประถมปลาย

ลายมือและความรู้สึกของเด็กสมาธิสั้น(2)

การจัดแผนการสอนรายบุคคล (Individual Education Plan) หรือการช่วยเหลือเป็นกลุ่ม ช่วยให้สามารถปรับ บูรณาการทั้งเนื้อหาและกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้น่าสนใจ และสอดคล้องกับทักษะที่เด็กมีความชอบ ถนัดอยู่ก่อน ให้เกิดสมาธิ เกิดแรงจูงใจ สร้างผลงานได้ต่อเนื่อง เป็นเสาหลักของความภูมิใจ และช่วยเหลือ ปรับแก้ไขความบกพร่องของการอ่าน เขียน ให้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆได้จากเรื่องราวที่ชอบสนใจ ใช้ประโยชน์จากสื่อมัลติมีเดียช่วยสอน

ในรายที่มีปัญหาด้านการปรับตัวรุนแรง ขาดการควบคุมตนเอง ทั้งด้านอารมณ์พฤติกรรม ควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์ และบุคลากรในวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการบำบัดรักษาด้วยยาหากจำเป็น
ผู้เขียนขอฝากกำลังใจให้กับผู้ปกครอง คุณครูและบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษกลุ่มต่างๆ ไม่ท้อถอยต่อความยากลำบาก ในระยะแรกของการหล่อเลี้ยงต้นกล้าแห่งปัญญาความคิดสร้างสรรรค์ พลิกผันวิกฤตให้เป็นโอกาส มองเห็นศักยภาพด้านดีที่มีอยู่มากของเด็กสมาธิสั้นทุกคน

 

บทความโดย
นายแพทย์สมชาติ สุทธิกาญจน์

Comments powered by CComment